- ประเทศต้องเดินหน้าได้Posted 9 hours ago
- เด็กไทยต้องทำชีวิตก้าวหน้าPosted 1 day ago
- ยุคทะเลเดือดPosted 2 days ago
- รวยลัดเป็นเปลวนรกPosted 3 days ago
- คนทำบุญลดลงPosted 6 days ago
- ใช้สติปัญญาสู้ปัญหาPosted 1 week ago
- คนดีต้องไม่โกงPosted 1 week ago
- หมูเด้งแซงหน้ารัฐบาลPosted 1 week ago
- ผีซ้ำด้ำพลอยPosted 1 week ago
- ถ้าผลงานเข้าตาไม่มีใครไล่Posted 2 weeks ago
ปลดพันธนาการจาก”ผู้คุม”เป็น”ผู้สนับสนุน”
อลัมน์:โดนไปบ่นไป “ปลดพันธนาการ‘ผู้คุม’เป็น‘ผู้สนับสนุน’
โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (โลกวันนี้วันสุข วันที่ 30 มีนาคม-6 เมษายน 2561)
สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าเรื่องภารกิจและวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา” ให้ฟังบ้างแล้วพอเป็นสังเขป สำหรับสัปดาห์นี้มาต่อกันที่เรื่องธุรกิจและการพัฒนาการของ “อาลีบาบา” ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เรามาดูกันว่าจากปี ค.ศ. 1999 มาจนถึงปีปัจจุบัน (ค.ศ. 2018) นับรวมกันแค่ 19 ปี “อาลีบาบา” ทำธุรกิจอะไรบ้าง แล้วทำไมถึงกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้อย่างน่าทึ่ง
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ “อาลีบาบา” ที่มีมูลค่าการตลาดสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกและเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกหลายร้อยหลายพันล้านคนอยู่ที่ “ผู้ใช้งาน” หรือ “ลูกค้า” บนระบบของ “อาลีบาบา” ซึ่งทุกคนคือปัจจัยความสำเร็จของบริษัท
ผู้บริหารของ “อาลีบาบา” เล่าให้พวกเราฟังว่า การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจต่างๆในกลุ่มบริษัทเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่เลือกใช้แพลตฟอร์มของ “อาลีบาบา” บวกกับการไม่หยุดนิ่งในการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ และความแน่วแน่ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า จึงทำให้ “อาลีบาบา” ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในวันนี้
“อาลีบาบา” เริ่มทำธุรกิจจากแพลตฟอร์มค้าส่งระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการด้วยกัน (B2B) ซึ่งช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถมีส่วนร่วมในการซื้อขายกันได้ทั่วโลก และในสิ้นปีงบประมาณ ค.ศ. 2016 “อาลีบาบา” กลายเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรามาดูกันดีกว่าว่าเขาทำธุรกิจอะไรและเมื่อไรกันบ้าง!
ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตในประเทศจีนและพ่อค้าขายส่งทั้งหลายไม่มีทางที่จะทำธุรกิจกับผู้ซื้อต่างชาติที่มีศักยภาพได้เลย ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ธุรกิจต่างๆเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1999 “แจ๊ค หม่า และผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทอาลีบาบาอีก 18 คน” ซึ่งเชื่อและตระหนักถึงศักยภาพของ “อินเทอร์เน็ต” ว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อทุกคนได้ “ทุกที่ทุกเวลา” จึงได้เริ่มเปิดให้บริการเว็บไซต์ค้าส่งระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันที่มีชื่อว่า alibaba.com ขึ้นเป็นครั้งแรก
alibaba.com กลายเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจซึ่งผู้ประกอบการมาตกลงการค้ากันอย่างมากมาย อย่างไรก็ดี ยังเห็นได้ชัดว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกันของผู้บริโภคที่ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าต่างๆได้โดยตรงจากผู้ผลิต โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2003 “อาลีบาบา” จึงเปิดให้บริการ “ตลาดค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์” ที่ชื่อว่า “Taobao” ซึ่งกลายเป็นสถานที่ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาต่อมา
ปี ค.ศ. 2004 เป็นปีสำคัญอีกปีหนึ่งที่ “อาลีบาบา” ปฏิวัติการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมใหม่โดยบริการที่ชื่อว่า “อาลีเพย์” ในเวลานั้นมีลูกค้าชาวจีนน้อยมากที่ใช้เครดิตการ์ด ลูกค้าส่วนใหญ่จะชำระค่าสินค้าจากการซื้อขายออนไลน์ด้วยเงินสดในเวลาที่ของมาส่ง ซึ่งยุ่งยากและมีปัญหามาก
ดังนั้น “อาลีเพย์” จึงตอบโจทย์และเป็นการปฏิวัติการชำระเงินแบบเก่าด้วยการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยการให้บริการ “ระบบการรับ-จ่ายเงินด้วยคนกลางทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่จะยังไม่โอนเงินไปให้กับผู้ขายจนกว่าผู้ซื้อจะได้รับของและยอมรับสินค้าเรียบร้อยเสียก่อน
การที่ “อาลีเพย์” ให้บริการเป็นคนกลางและพัฒนานวัตกรรมการรับ-จ่ายเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันนั้นได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานด้านการค้าออนไลน์ในประเทศจีนเกิดความเชื่อมั่น และทำให้ธุรกิจออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในปี ค.ศ. 2008 เศรษฐกิจในประเทศจีนเจริญเติบโต ประชากรมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าแบรนด์ที่มีคุณภาพมีจำนวนมากขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าประเภทดังกล่าว “อาลีบาบา” จึงเพิ่มช่องทางการซื้อขายสินค้าแบรนด์ดังต่างๆด้วยการเปิด “Tmall” ขึ้นมาเพื่อให้บริการอีก 1 แพลตฟอร์ม
ต่อมา “Tmall” ก็ได้กลายเป็นแพลตฟอร์ม Third Party สำหรับการให้บริการซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์และสินค้าขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกเช่นเดียวกัน
“อาลีบาบา” ยังเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง ในปี ค.ศ. 2009 ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่สามารถบริหารเครือข่ายและจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ “อาลีบาบา” นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการบริหารธุรกิจของบริษัทที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กได้ใช้ทรัพยากรคลาวด์คอมพิวติ้งของบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจอีกด้วย
ปีต่อมาคือปี ค.ศ. 2010 “อาลีบาบา” เปิดตัว “อาลีเอ็กเพรส” ธุรกิจตัวใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกชาวจีนสามารถขายสินค้าของตัวเองโดยตรงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนั้นบริษัทยังได้ออกนโยบายในการแบ่งปันรายได้ 0.3% ของรายได้ประจำปีเพื่อสนับสนุนและอนุรักษ์การรักษาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกและความรับผิดชอบต่อสังคมด้านอื่นๆอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 2013 “อาลีบาบา” เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อตั้งเครือข่ายที่ชื่อว่า “Cainiao” ร่วมกับผู้ให้บริการอื่นๆเพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์การค้าปลีกและด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน
เครือข่าย “Cainiao” เป็นแพลตฟอร์มปฏิบัติการด้านข้อมูลโลจิสติกส์ซึ่งเชื่อมต่อผู้บริโภค พ่อค้า และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเข้าด้วยกัน โดยระบบจะอนุญาตให้มีการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่การสั่งซื้อ เส้นทางการส่งของ ห้วงเวลา ไปจนถึงฟีดแบ็กจากผู้ใช้งาน ซึ่งจากข้อมูลที่ครบถ้วนเหล่านี้ทำให้ทุกฝ่ายสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายจากระบบโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เข้าสู่ปี ค.ศ. 2014 ซึ่งถือเป็นปีสำคัญและปีทองของบริษัท “อาลีบาบา” ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้แบรนด์นานาชาติสามารถขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้โดยตรงให้แก่ผู้บริโภคในประเทศจีน เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ผลิตต่างชาติต้องประสบความยุ่งยากในการขายสินค้าอยู่พอสมควร ดังนั้น “อาลีบาบา” จึงได้เปิดบริการชื่อว่า “Tmall Global” เพื่อให้แบรนด์ต่างชาติขายสินค้าในประเทศจีนได้ง่ายและรวดเร็ว
และในวันที่ 19 เดือน 9 ปี 2014 กลุ่มบริษัทอาลีบาบาได้นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ซึ่งการนำกิจการเข้าตลาดในครั้งนั้นถือว่าราคาหุ้นของ “อาลีบาบา” มีมูลค่าหุ้น IPO สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการเปิดตลาดแลกเปลี่ยนเป็นต้นมา ซึ่งยังไม่มีบริษัทไหนลบสถิติได้จนถึงทุกวันนี้
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการระดมทุนจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก พอเข้าสู่ปี ค.ศ. 2015 “อาลีบาบา” ได้ “คิกออฟ” ยุทธศาสตร์ของการขยายธุรกิจไปทั่วโลก โดยก่อตั้งสำนักงานสาขาที่ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี และในเทศกาลการช็อปปิ้งออนไลน์ของ “อาลีบาบา” ที่จัดขึ้นในวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี พบว่าในปี 2015 มียอดขายรวมในวันที่จัดเทศกาลวันเดียวสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดรวมนี้นับเฉพาะรายการซื้อสินค้าที่ทำผ่านระบบ “อาลีเพย์” และซื้อขายในตลาดขายปลีกอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทเท่านั้น
ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้เป็นไทม์ไลน์ในห้วงเวลา 19 ปีของกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา” ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกบนอพาร์ตเมนต์เล็กๆ แต่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทที่มีมูลค่าการตลาดสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกและเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลกหลายร้อยหลายพันล้านคนอยู่ที่ไหน! ถือเป็นคำถามสำคัญที่ผมไม่พลาดที่จะถามผู้บริหารของ “อาลีบาบา” จากการมาดูงานครั้งนี้อย่างแน่นอน
และคำตอบที่ได้รับก็ไม่เกินความคาดหมาย นั่นก็คือ “ผู้ใช้งาน” หรือ “ลูกค้า” บนระบบของ “อาลีบาบา” ซึ่งทุกคนคือปัจจัยความสำเร็จของบริษัท
แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้และ “อาลีบาบา” จะไม่มีวันก้าวมาถึงจุดนี้ได้เลยก็คือ บริษัทต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับธุรกิจของ “อาลีบาบา” และยินดีที่จะเป็นผู้แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
จากการช่วยเหลือและให้การสนับสนุนดังกล่าว ทำให้ “อาลีบาบา” กลายเป็นบริษัทเอกชนอันดับ 1 ซึ่งสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างโอกาสให้กับประเทศจีนและประชาชนอย่างมหาศาล จนยากที่จะประเมินมูลค่าความสำเร็จออกมาเป็นตัวเลขได้ในวันนี้
นั่นคือสิ่งที่ผมอยากเห็นในประเทศไทย! ทำอย่างไร “รัฐบาล” จะเห็นความสำคัญของ “ธุรกิจยุคใหม่” และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “ปลดพันธนาการ” กฎระเบียบมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเปลี่ยนจากผู้คุมกฎที่ตั้งหน้าตั้งตา “ควบคุม” มาสู่การเป็น “ผู้สนับสนุน” ที่เข้าใจและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกใบนี้
You must be logged in to post a comment Login